กิจกรรมข่าวประชาสัมพันธ์

Up-Skill & New-Skill ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจด้านน้ำหอม หัวข้อ “ศาสตร์แห่งเครื่องหอมและน้ำหอม (Perfume 101) รุ่นที่ 2”

สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย (HCAT) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดอบรมและฝึกปฏิบัติ หลักสูตร “ศาสตร์แห่งเครื่องหอมและน้ำหอม (Perfume 101) รุ่นที่ 2” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และทักษะในการสร้างสรรค์และปรับปรุงสูตรน้ำหอม โดยเริ่มต้นจากการรู้จัก และจำแนกแนวกลิ่นเครื่องหอมและน้ำหอม รวมถึงวิเคราะห์กลุ่มหรือประเภทองค์ประกอบทางเคมีอย่างกว้าง ๆ ของเครื่องหอมและน้ำหอม และการประยุกต์สร้างสรรค์กลิ่นตามความชื่นชอบหรือแนวโน้มความนิยมของกลุ่มผู้บริโภค ในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ภิรมย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์พระนครเหนือ) โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์เพ็ญนภา สุวรรณบำรุง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดโครงการและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการอบรมในครั้งนี้

Perfume101 รุ่นที่ 2

โครงการอบรมและฝึกปฏิบัติ หลักสูตรดังกล่าวเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องหอม น้ำหอม ตลอดจนเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับกลิ่นเครื่องหอม และการปรุงกลิ่นเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยได้รับเกียรติผู้เชี่ยวชาญ คุณสนธิเดช แก้วสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องหอมและน้ำหอมโดยเฉพาะ จากบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด (TCFF) ที่นำประสบการณ์กว่า 25 ปี มาร่วมถ่ายทอดความรู้ เทคนิค และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาทิเช่น

  • ประวัติความเป็นมาของน้ำหอม
  • ประเภทและลักษณะของน้ำหอม
  • ส่วนประกอบของน้ำหอม (Top, Middle, Base notes)
  • วิธีการเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตน้ำหอม
  • การจัดสมดุลกลิ่นและการออกแบบกลิ่น
  • การสกัดและการสังเคราะห์กลิ่น
  • การควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบมาตรฐานของน้ำหอม
  • การสร้างสรรค์สูตรน้ำหอมจากวัตถุดิบธรรมชาติและสังเคราะห์
  • การนำเสนอน้ำหอมที่ผลิตขึ้นมาและการได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

โดยโครงการดังกล่าวนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 36 คน ประกอบด้วยหลายสาขาอาชีพ เช่น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและเครื่องสำอาง นักวิจัยและนักวิชาการ ผู้ที่สนใจที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจน้ำหอม และอื่น ๆ โดยรูปแบบกิจกรรมเป็นการอบรมและฝึกปฏิบัติร่วมกันตลอดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้กลิ่นของเครื่องหอมไปพร้อม ๆ กับการบรรยายคุณลักษณะของแหล่งที่มาและแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริรัตน์ พานิช และ อ.ดร.พิชญ์ชาญ ศรีเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ร่วมเป็นผู้ช่วยวิทยากรทั้งในส่วนกิจกรรมทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ โดยได้รับความสนใจจากบุคคลจากภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาคเอกชน ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน นักเรียนและนักศึกษา โดยผู้เข้าร่วมได้รับความรู้เกี่ยวกับเครื่องหอมและระดับแนวกลิ่น จากวัตถุดิบของแหล่งเครื่องหอมจากพืช (ใบ เปลือก ผล) และสัตว์ และได้รับการฝึกปฏิบัติการปรุงกลิ่นให้เหมือนกับกลิ่นตัวอย่าง ตลอดจนสุดท้ายได้ปรุงกลิ่นตามความต้องการของตนเอง

« of 4 »